ตำแยช้าง ๒

Dendrocnide stimulans (L. f.) Chew

ชื่ออื่น ๆ
ลังตังช้าง, สามแก้ว (ใต้); หานเดื่อ, หานสา (เหนือ); เอ่โก่เปอ, ไอ้ขุนา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก มีขนเป็นพิษ แตกกิ่งโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมเทาอ่อน เกือบเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดหนาแน่น มีช่องอากาศและรอยแผลใบค่อนข้างชัด ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแน่นใกล้ปลายกิ่ง ใบล่าง ๆ มักร่วง รูปไข่กลับแคบหรือรูปรี พบน้อยที่เป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน มีผลึกหินปูนกระจายทั่วไป ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ๑-๕ ช่อ ทุกส่วนบนช่อดอกมักมีขน ช่อดอกเพศผู้สั้นกว่าช่อดอกเพศเมีย ดอกสีขาวอมเขียว ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกลม แบนข้าง มีกลีบรวมติดทนหุ้มที่โคนผล เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตำแยช้างชนิดนี้เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูง ๑-๗ ม. มีขนเป็นพิษ แตกกิ่งโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมเทาอ่อน เกือบเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดหนาแน่น มีช่องอากาศและรอยแผลใบค่อนข้างชัด

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแน่นใกล้ปลายกิ่ง ใบล่าง ๆ มักร่วง รูปไข่กลับแคบหรือรูปรี พบน้อยที่เป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกือบเกลี้ยงหรือมีขน และมีผลึกหินปูนกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๔ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหถี่ ก้านใบยาว ๒.๕-๑๐ ซม. หูใบรูปไข่ ยาว ๐.๗-๒ ซม. ร่วงง่าย ก้านใบและเส้นใบมีขนหนาแน่น

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ยาว ๑๐-๕๐ ซม. ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ๑-๕ ช่อ ทุกส่วนบนช่อดอกมักมีขน ช่อดอกเพศผู้สั้นกว่าช่อดอกเพศเมีย แต่ละช่อย่อยมี ๒-๑๐ ดอก ดอกสีขาวอมเขียว ใบประดับรูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาวได้ถึง ๒ ซม. มีขนหนาแน่น ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ขนาดใกล้เคียงกับกลีบรวม ดอกเพศผู้ไร้ก้านมีกลีบรวม ๔ กลีบ คล้ายรูปไข่กลับกว้างหรือรูปหัวใจ คุ่ม กว้าง ๐.๗-๑.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูโค้งพับลง มีรังไข่ที่เป็นหมัน รูปพีระมิดคว่ำ ยาวประมาณ ๑ มม. ช่อดอกเพศเมียมักห้อยลง ใบประดับย่อยติดอยู่บนก้านช่อย่อยรูปพัดที่อวบหนา ดอกเพศเมียไร้ก้าน มี ๔-๕ ดอก เรียงเป็นแถวระนาบเดียวบนก้านช่อย่อยรูปพัด ดอกกว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. มีกลีบรวม ๔ กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปคล้ายสามเหลี่ยม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้น ยาวประมาณ ๕ มม.

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกลม แบนข้าง กว้างและยาว ๒-๔ มม. มีกลีบรวมติดทนหุ้มที่โคนผล เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตำแยช้างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ริมลำธารหรือใกล้ภูเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน ลาว เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตำแยช้าง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dendrocnide stimulans (L. f.) Chew
ชื่อสกุล
Dendrocnide
คำระบุชนิด
stimulans
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Chew, Wee-Lek
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1741-1783)
- Chew, Wee-Lek (1932-)
ชื่ออื่น ๆ
ลังตังช้าง, สามแก้ว (ใต้); หานเดื่อ, หานสา (เหนือ); เอ่โก่เปอ, ไอ้ขุนา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ